ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศไทย, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, กัมพูชา, สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, เมียนมาร์, มาเลเซีย, สิงคโปร์, บรูไน, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community : AC) เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศรวมกันเป็นกลุ่มประชาคมอาเซียน จึงต้องมีพันธสัญญาที่ต้องดำเนินการ ประกอบไปด้วยเสาหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง (ASEAN Political-Security community : APSC)ด้านวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community : ASCC) และ ด้านเศรษฐกิจ (ASEAN Economic Community : AEC) อาจกล่าวได้ว่าประชากรในประชาคมอาเซียนรวมกันกว่า 601 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งประมาณ 300 ล้านคนนับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ส่วนประเทศสิงคโปร์และไทยก็มีประชากรส่วนหนึ่งเข้าข่ายลักษณะดังกล่าวด้วย ดังนั้นการพยายามทำความเข้าใจถึงหลักการของศาสนาอิสลามจะมีส่วนช่วยให้เกิดการอยู่ร่วมกัน อย่างสันติบนความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา ภายใต้เสาหลักของประชาคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ทำให้เกิดความเป็นเอกภาพเพื่อความมั่นคงของประชาคมอาเซียนต่อไป
กรุงเทพมหานคร ถือเป็นมหานครอีกแห่งหนึ่งที่มีผู้คนหลากเชื้อชาติต่างศาสนาอาศัยอยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันกรุงเทพฯมีประชากรประมาณ 5.6 ล้านคน โดยประชากรราว 10% หรือประมาณ 5-6 แสนคน นับถือศาสนาอิสลาม โดยประชากรกลุ่มนี้อาศัยรวมกันเป็นชุมชนมุสลิมกระจายตัวอยู่หลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ซึ่งชุมชนมุสลิมบางแห่งมีความเก่าแก่ ย้อนกลับไปถึงช่วงก่อนกรุงรัตนโกสินทร์เลยทีเดียว โดยวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของมุสลิมจะผูกพันอยู่กับความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า(อัลลอฮ์) และปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนา ดังนั้นในชุมชนมุสลิมแต่ละแห่งมักมีมัสยิด (mosque) เป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติศาสนกิจ (การนมาซหรือละหมาด) นอกจากนี้มัสยิดยังเป็นโรงเรียนสอนอัลกุรอาน (คัมภีร์ที่ประทาน มาจากพระเจ้า) และหลักการของศาสนา สถานที่ชุมนุมพบปะ ประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ เฉลิมฉลอง ทำบุญเลี้ยง สถานที่ทำพิธีสมรส และสถานที่พักพิงของผู้สัญจรผู้ไร้ที่พำนัก
มัสยิดต้นสน หรือชื่อที่เรียกทั่วไปว่า กุฎีต้นสน หรือกุฎีใหม่
จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ทำให้ทราบว่ากุฎีต้นสนและชุมชนแห่งนี้มีอายุกว่า 400 ปี ฉะนั้นชุมชนมุสลิมนี้จึงมีอยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ชุมชนตั้งอยู่ริมคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งในอดีตก็คือส่วนหนึ่งของ แม่น้ำเจ้าพระยา มุสลิมในชุมชนนี้ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากพ่อค้ามุสลิมชาติต่าง ๆ ที่เดินทางติดต่อ ค้าขายกับอยุธยา เช่น เปอร์เซีย อาหรับ อินเดีย จาม เขมร จีน ฯลฯ แวะพำนักและตั้งถิ่นฐานมี ครอบครัวที่นี่ ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้จะแตก มุสลิมในอยุธยาซึ่งก็มีบรรพบุรุษจากชนชาติต่าง ๆ และส่วนใหญ่จะตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำได้อพยพล่องแพตามลำน้ำเจ้าพระยามาตั้งถิ่นฐานสมทบกับมุสลิมที่อยู่เดิมในบริเวณนี้ โดยอีกส่วนหนึ่งแวะตั้งถิ่นฐานอยู่ริมฝั่งน้ำบริเวณนนทบุรี บางอ้อ บางกอกน้อย ดังนั้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ นอกจากจะเรียกมุสลิมกลุ่มนี้ว่า “แขกมัวร์หรือแขกเทศ” แล้วยังเรียก “แขกแพ”

มุสลิมในชุมชนนี้มีบรรพบุรุษจากหลายเชื้อชาติ แต่ที่สำคัญคือ ส่วนหนึ่งเป็นเชื้อสายของสุลต่านสุลัยมาน ซึ่งรับราชการในตำแหน่งสำคัญ ๆ นับเนื่องแต่สมัยกรุงธนบุรีสืบต่อจน กรุง รัตนโกสินทร์ ศพของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงฝังอยู่ในกุโบร์ของมัสยิดแห่งนี้ ทั้งนี้รวมถึงเจ้าพระยาจักรีซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปในพิธีฝังด้วยพระองค์เอง
เจ้าพระยาจักรีท่านแรกในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี มีประวัติคือ ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก หลวงนายศักดิ์ (หมุด) เชื้อสายสุลต่านสุลัยมาน เป็นมหาดเล็กในราชสำนักมีหน้าที่ออกไปเก็บส่วยที่เมืองจันทบุรีเก็บได้ 300ชั่ง (24,000บาท) เมื่อทราบว่า กรุงศรีอยุธยาแตกก็ไม่ยอมคืนส่วยแก่ พระยาจันทบุรีตามคำขอ โดยวางแผนว่าเงินถูกปล้น แล้วนำเงินดังกล่าวไปมอบแก่พระยาตากเพื่อเป็นทุนในการสร้างอาวุธเพื่อกอบกู้เอกราช จากความช่วยเหลือนี้ ประกอบด้วยความสามารถในการต่อเรือ เดินเรือ และช่วยกอบกู้เอกราชให้ได้คืนมาโดยเร็ว หลวงนายศักดิ์จึงได้รับพระกรุณา โปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าตากสินมหาราชแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ (หมุด) ตำแหน่ง สมุหนายก ซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า เชื้อสายของท่านสุลต่านสุลัยมานจากเปอร์เซีย นับแต่ธนบุรีถึง รัตนโกสินทร์ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยถึง 2ท่าน คือ เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ สกุลต่างๆ ในชุมชนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นสายสกุลของสุลต่านสุลัยมาน เช่น มานะจิตต์ ทองคำวงศ์ ชื่นภักดี ท้วมประถม ภู่
โดยกลุ่มงานวิจัย 2 กองนโยบายและแผนงาน สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร
ที่มา facebook : กองนโยบายและแผนงาน สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร
บทความก่อนหน้านี้แอ่ว “กาดบ้านฮ่อ” ลิ้มรสอาหารพื้นถิ่น ของแปลกสารพัน วิถีมุสลิมของชาวจีนยูนนาน
บทความถัดไปมัสยิดหลวงโกชาอิศหาก มัสยิดโบราณสไตล์ยุโรปแห่งเดียวในประเทศไทย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่