มาย้อนอดีต เที่ยวชม ตลาดนัดกลางเมืองเชียงใหม่ ย่านกาแลไนท์บาซ่าร์ ที่ใครหลายคนติดภาพไนท์บาซาร์ บนถนนช้างคลาน ว่าเป็นตลาดกลางคืนที่จำหน่ายของที่ระลึก ที่คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ยังมีอีกแง่มุมของความเป็นพื้นถิ่นไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะในบริเวณถนนเจริญประเทศซอย 1 เป็นศูนย์กลางขนาดย่อมๆ ของ พี่น้องเชื้อสายจีนยูนนาน และคนหลากหลายเชื้อชาติใน เชียงใหม่ มารวมตัวกันในทุกเช้าตรู่ของวันศุกร์ เมื่อพ่อค้าและแม่ค้าจากหลากสารทิศ ต่างขนสินค้าหลากหลายมาจำหน่ายในตลาดนัดอันแสนคึกคัก และเข้มข้นไปด้วยลักษณะเฉพาะ ภายในซอยเล็กๆจนกลายเป็นตลาดสด ที่รวมสินค้าหลากหลายเชื้อชาติ ตั้งแต่ พืชผัก ผลไม้นานาชนิด ของกิน ของใช้แปลกๆอีกมากมาย ที่เราไม่รู้จัก นอกจากตลาดแล้ว ยังได้แวะสัมผัสชม บ้านเฮือนหลวง อันเก่าแก่ที่อายุนับ 100 กว่าปี ได้ที่นี่ “กาดบ้านฮ่อ” หรือ “กาดจีนฮ่อ”

กาดบ้านฮ่อ เกิดขึ้นเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนพืช ผัก อาหารของชาวมุสลิม ซึ่งส่วนใหญ่จะนำลมาโดยชาวมุสลิมจากบนดอยสูง แถบดอยอ่างขาง อำเภอฝาง เชียงใหม่ ที่นำพืชผัก อาหารลงมาขายให้กับชาวจีนฮ่อมุสลิมในเมืองเชียงใหม่ที่ตลาดแห่งนี้ มานานนับสิบ ๆ ปีนั่นเอง แต่ปัจจุบันพื้นที่ของตลาด ได้ถูกเปลี่ยนมือจากเจ้าของชาวมุสลิมเป็นคนไทย เมื่อ 3-4 ปีมาแล้ว ประกอบกับผู้คนในเชียงใหม่เอง ก็มีกลุ่มชนหลากหลายกลุ่มมาตั้งถิ่นฐานใช้ชีวิตจำนวนมาก รวมทั้งจีนฮ่อที่เรียกตัวเองว่า “ผาห้า” ซึ่งไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ตลาดแห่งนี้จึงเปลี่ยนแปลงทำให้มีสินค้า และอาหารการกินหลากหลายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่สินค้าส่วนใหญ่ก็ยังเป็นสินค้าจากพ่อค้าแม่ค้าคนจีนฮ่อ มากกว่าคนกลุ่มอื่น ทั้งคนไทยใหญ่ และคนเมือง (คนเชียงใหม่พื้นถิ่น ) ก็มีบ้างแต่ไม่มากนัก

 

ภายในตลาดที่เราเห็น ส่วนมากจะเป็นอาหารตำรับจีนยูนนาน ที่หาทานได้ยากในเมืองเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อน้ำค้าง (เนื้อหมักเกลือคล้ายๆ กับเนื้อแดดเดียว) ไก่ดำ เนื้อแพะ โมหิงงะ (คนไทยมักเรียกว่าขนมจีนพม่า) ข้าวแรมฟืน (หรือข้าวฟืนถั่ว) ข้าวปุกงา (ขนมที่ทำจากข้าวเหนียวดำตำคลุกกับงา) ซาโมซา (ปอเปี๊ยะไส้ผักรวม) รวมทั้งของกินที่บรรจุขายเป็นกระป๋องปี๊บหรือเป็นกระปุก เช่น น้ำพริกชนิดต่างๆ เต้าหู้ยี้ แฮม ไส้กรอก และผักดอง เรียกได้ว่าครบเครื่องอาหารยูนนานที่ถูกลิ้นคนพื้นที่ แต่ตื่นตาแปลกใหม่และน่าลิ้มลองสำหรับคนนอกพื้นที่มากทีเดียว

นอกจากนี้ก็จะมี พืชผักผลไม้ หลากหลายชนิด  และ ธัญพืช มากมาย อาทิ ถั่วลายเสือ ที่นำไปใช้ต้มกับซุปกระดูกทำเป็นอาหาร ถั่วลันเตา ที่ใช้กรรมวิธีปลูกเหมือนถั่วงอกที่ต้องนำไปแช่น้ำก่อน นำมาผัดกับน้ำมันทานกับข้าว หรือต้มกับกระดูกหมูนั้นเอง  ถั่วเน่าไต ห่อด้วยใบสัก ห่อละสิบบาท กลิ่นดี ราขึ้นกำลังได้ที่ทีเดียว แม่ค้าบอกว่าถ้าไม่ใช้ใบสัก ราจะไม่ค่อยขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของถั่วเน่า เราสามารถนำถั่วเน่าไตมาทำอาหารได้เหมือนๆกับเต้าเจี้ยว คนเมืองสามารถเอามาใส่น้ำพริกอ่อง เอามาใส่น้ำเงี้ยวก็อร่อยดี รสชาติธรรมชาติไม่เค็มสังเคราะห์เหมือนเต้าเจี้ยวขวด รวมไปถึง สมุนไพร เครื่องเทศชนิดต่างๆที่ใช้ประกอบอาหารของคนจีนอีกด้วย

บทความก่อนหน้านี้แวะตลาดนัดจีนโบราณ ชุมชนยูนานมุสลิมบ้านฮ่อ
บทความถัดไปมัสยิดที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในกรุงเทพมหานคร (ตอนที่ 1)

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่