อัครมหาเสนาบดีใหญ่ชีอะฮ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

2610
0
เมื่อพูดถึงยุคที่มีการติดต่อกับชาวต่างในอดีตของสยาม คนส่วนใหญ่มักนึกถึงรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะมีขุนนางต่างชาติที่มีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางอย่าง นายคอนสแตนซ์ ฟอลคอน (Constance Falcon) หรือ ออกญาวิไชเยนทร์ เสนาบดีชาวกรีก… หากยังมีขุนนางต่างชาติคนสำคัญมากแต่กล่าวถึงน้อยมากในงานเขียนทางประวัติศาสตร์ และมีบทบาทไม่น้อยกว่าฟอลคอน
เขาผู้นั้นคือ อกามะหะหมัด (Aya Mahammad) อัครมหาเสนาบดีใหญ่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
อกามะหะหมัด เป็นชาวอิหร่านโดยกำเนิด มีศักดิ์เป็นหลานลุงของเฉกอะหฺมัด (อัครมหาเสนาบดีในสมัยพระเจ้าปราสาททอง) ในหนังสือเรื่อง “สำเภากษัตริย์สุไลมาน” ซึ่งเขียนโดย อาลักษณ์ผู้บันทึกเรื่องราวการเดินทางของคณะทูตอิหร่านที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ระบุว่า ท่านอกามะหะหมัดเป็นผู้มีการศึกษาและได้รับการอบรมตามแบบลูกผู้ดีมีสกุลชาวอิหร่านในยุคนั้น ท่านรอบรู้ทั้งทางด้านศิลปศาสตร์ และการบริหารราชการแผ่นดิน ท่านได้เริ่มเข้ามาสู่สยามครั้งแรกในฐานะพ่อค้า
คำว่า “อกา” เป็นภาษาอิหร่านแปลว่า “ผู้นำ” หรือ “บุคคลชั้นนำของสังคมมุสลิม” ท่านจึงไม่ใช่พ่อค้าธรรมดาๆ แต่ยังเป็นผู้มีความรู้ และนักการศาสนาด้วย
ท่านอกามะหะหมัดได้เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาด้วยการสนับสนุนของลุงท่าน และได้เริ่มเรียนภาษาไทยจนชำนาญ ต่อมา ท่านได้สมรสกับคุณชี ธิดาคนเดียวของท่านเฉกอะหฺมัด และลงหลักปักฐานทำมาค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ด้วยความสัมพันธ์กับท่านเฉกอะหฺมัด และความรู้ความสามารถในศาสตร์แขนงต่างๆ ทำให้ท่านมีสถานภาพสูงในสังคม ซึ่งมีส่วนผลักดันให้ก้าวสู่ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

ชะตากรรมที่พลิกผัน

ท่านอกามะหะหมัดคงเป็นเพียงพ่อค้าธรรมดาคนหนึ่ง หากท่านไม่ได้พบโอกาสสำคัญที่พลิกผันให้ต้องเข้าไปมีบทบาทอยู่ในราชสำนัก และโอกาสนั้นก็เกิดจากความสัมพันธ์ที่ท่านมีกับเจ้าชายพระองค์หนึ่ง ในฐานะหลานชายของผู้นำประชาคมอิหร่านและขุนนางผู้ใหญ่ ท่านอกามะหะหมัดได้กลายเป็นพระสหายและครูให้กับสมเด็จพระนารายณ์ พระราชโอรสองค์หนึ่งในสมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งประสูติแต่พระอัครมเหสี
สมเด็จพระนารายณ์ทรงเป็นเจ้าชายที่มีพระปรีชาสามารถมาก ทรงเป็นผู้สนใจใฝ่รู้ในวิทยาการของชาวต่างชาติจนถึงกับเสด็จไปเยี่ยมเยือนชุมชนอิหร่านอยู่บ่อยๆ ทรงได้รับคำแนะนำและบอกเล่าเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองของจักรวรรดิอิหร่านภายใต้การปกครองของราชวงศ์ซาฟาวี (Safavid Dynasty) ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ราชวงศ์หนึ่งในยุคนั้น ขณะเดียวกันก็ทรงได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับศิลปศาสตร์ และการปกครองจากผู้เชี่ยวชาญชาวอิหร่าน รวมทั้งจากท่านอกามะหะหมัด ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเจ้าฟ้าหนุ่มกับคหบดีชาวอิหร่าน ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เพราะในอนาคตบุคคลผู้หนึ่งจะกลายเป็นพระมหากษัตริย์ และอีกท่านหนึ่งจะกลายเป็นเสนาบดีคู่พระทัย
เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองสวรรคตในปี พ.ศ. 2199 ความวุ่นวายทางการเมืองได้เริ่มขึ้น การช่วงชิงอำนาจระหว่างพระราชโอรสองค์โตคือสมเด็จเจ้าฟ้าไชยกับสมเด็จพระนารายณ์ ได้ทำให้เกิดการแบ่งฝ่ายสู้รบกันระหว่างขุนนางในราชสำนัก สมเด็จพระนารายณ์ทรงขอความช่วยเหลือจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พระปิตุลา ในการช่วงชิงอำนาจกับพระเชษฐา และถึงแม้พระองค์จะทรงมีชัยชนะ แต่ก็ต้องยอมยกตำแหน่งกษัตริย์ให้กับพระปิตุลา ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจมากในเวลานั้น พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นพระอุปราชครองวังหน้า
อย่างไรก็ดี สมเด็จพระนารายณ์ก็มิได้ทรงรอให้พระปิตุลาสวรรคตเพื่อที่จะทรงได้ราชสมบัติ แต่กลับทรงดำเนินการเพื่อแย่งชิงราชบัลลังก์อีกครั้ง
การล้มล้างอำนาจของสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะขุนนางผู้ใหญ่ที่คุมไพร่และกำลังพลส่วนใหญ่เป็นข้าราชสำนักของพระปิตุลา ในพระราชพงศาวดารและจดหมายเหตุของชาวต่างชาติได้อธิบายถึงการชิงอำนาจครั้งนี้อย่างละเอียด โดยกล่าวถึงรายนามขุนนางและหัวหน้าประชาคมต่างชาติที่ร่วมกับสมเด็จพระนารายณ์ อันได้แก่ หัวหน้าประชาคมญี่ปุ่น มาเลเซีย ปัตตานี และอิหร่าน รวมทั้งขุนนางระดับกลางและล่างอีกจำนวนหนึ่ง
ในหนังสือ “สำเภากษัตริย์สุไลมาน” เล่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงนำกองทหารร่วมไปในขบวนแห่ พิธีตะซิยัต (Taziyat) ของพวกอิหร่านในกรุงศรีอยุธยา พิธีนี้จัดขึ้นเพื่อรำลึกและไว้อาลัยแด่อิหม่ามฮุเซ็น ผู้นำทางศาสนาของมุสลิม นิกายชีอะห์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ในสงครามศาสนาเมื่อปี พ.ศ. 1204
พิธีตะซิยัตหรือพิธีเจ้าเซ็นนี้จัดเป็นประจำทุกปีในหมู่มุสลิมชีอะห์ทั่วโลก โดยมีการแต่งริ้วขบวนทหาร และขบวนม้าศึก จำลองเหตุการณ์สงครามในสมัยอิหม่ามฮุเซ็น พวกเจ้าเซ็นได้จัดขบวนแห่แหนจากกลางเมืองมุ่งไปยังพระบรมมหาราชวังเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทอดพระเนตร เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ ในฐานะองค์อุปถัมภ์พิธีกรรมนี้
สมเด็จพระนารายณ์ทรงใช้โอกาสระหว่างพิธีตะซิยัตยกกำลังเข้าปิดล้อมและโจมตีสมเด็จพระปิตุลาโดยไม่ให้ทันตั้งตัว เป็นผลให้ฝ่ายวังหลวงเพลี่ยงพล้ำ สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาทรงลอบหนีออกจากพระราชวัง แต่ก็ถูกจับกุมได้และถูกสำเร็จโทษ สมเด็จพระนารายณ์เสด็จปราบดาภิเษกเป็นกษัตริยเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2199
ในฐานะผู้สนับสนุนพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ สมเด็จพระนารายณ์ทรงตอบแทนประชาคมอิหร่านด้วยการแต่งตั้งให้อับดุล ราซัค (Abdur Razzaq) หัวหน้าประชาคมอิหร่านในเวลานั้น ดำรงตำแหน่งออกญาพิชิต ว่าที่อัครมหาเสนาบดี บุคคลผู้นี้คงได้รับการสนับสนุนจากประชาคมอิหร่านในเวลานั้น และเป็นผู้มีอิทธิพลมากผู้หนึ่ง ไม่มีหลักฐานกล่าวว่าบุคคลผู้นี้มีความเกี่ยวพันอย่างไรกับท่านอกามะหะหมัด แต่ในเอกสารของอิหร่านระบุว่า ครอบครัวของเขามาจากกิลาน (Gilan) ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของชายฝั่งทะเลสาบแคสเปียนในอิหร่าน แต่ออกญาพิชิตก็มีอำนาจอยู่ไม่ได้นาน เพราะต่อมาเขาถูกพ่อค้าฮอลันดาและชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งฟ้องร้องถึงความไม่ซื่อสัตย์และคดโกง  ทำให้ถูกไต่สวน และริบทรัพย์สินและลงโทษปลดจากตําแหน่ง

เสนาบดีราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์

ท่านอกามะหะหมัด ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าประชาคมอิหร่านสืบแทน ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงแต่งตั้งพระสหายเก่าให้ดำรงตำแหน่ง ออกพระศรีเนาวรัตน์ เจ้ากรมท่าขวาและอัครมหาเสนาบดี มีหน้าที่ดูแลด้านการค้า การคลัง และประชาคมอิหร่านในกรุงศรีอยุธยา ท่านได้เริ่มบทบาทสำคัญในฐานะเสนาบดีคู่พระทัยโดยดำเนินนโยบายการค้า ควบคู่ไปกับการเมือง
ออกพระศรีเนาวรัตน์เป็นผู้มีบทบาทควบคุมดูแลการค้า และการเดินเรือพาณิชย์ให้กับราชสำนักสยาม เนื่องจากเคยเป็นพ่อค้าเก่าและคุ้นเคยกับลู่ทางการค้าทางทะเลเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ท่านยังเป็นที่ปรึกษาด้านการคลังให้กับสมเด็จพระนารายณ์อโดยถวายคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีรวมไปถึงการใช้จ่ายในราชสำนัก นอกจากนี้ ท่านยังได้รับพระบรมราชานุญาตให้ผูกขาดการผลิตและการค้าไม้หอมซึ่งถือเป็นสินค้าชั้นสูงและมีราคาแพงมากในยุคนั้น ซึ่งเป็นที่ต้องการทั้งในจีน ญี่ปุ่น อินเดีย อิหร่าน และตะวันออกกลาง
ด้านบทบาททางการเมือง ออกพระศรีเนาวรัตน์ได้ทูลเสนอให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งตั้งขุนนางมุสลิมไปเป็นผู้ดูแลเมืองท่าต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการค้าของสยาม อาทิ บางกอก พริบพรี (เพชรบุรี) ปราณบุรี กุยบุรี รวมถึงผู้สำเร็จราชการเมืองมะริด และตะนาวศรี เมืองเหล่านี้ล้วนเป็นเมืองท่าที่เชื่อมโยงการค้าทางทะเลฝั่งตะวันตกจึงเต็มไปด้วยพ่อค้าวาณิชต่างชาติ ทั้งยังเป็นเมืองหน้าด่านของสยามซึ่งจะช่วยสกัดกั้นและป้องกันกองเรือต่างชาติที่จะเข้ามาโจมตีกรุงศรีอยุธยาด้วย
ออกพระศรีเนาวรัตน์ยังเป็นผู้จัดหากองกำลังอาสา หรือทหารรับจ้าง เข้ามาประจำการในราชสํานัก โดยท่านได้ว่าจ้างทหารเชื่อสายอินโดอิหร่าน ทั้งจากอิหร่าน อินเดีย และตุรกี เข้ามาเป็นกองกำลังรักษา พระองค์ให้กับสมเด็จพระนารายณ์ ทหารเหล่านี้มีความชำนาญการรบ และได้รับค่าจ้างประจำ จึงเป็นทหารโดยอาชีพ และขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ภายใต้การควบคุมของออกพระศรีเนาวรัตน์อีกต่อหนึ่ง
ในฐานะเสนาบดีแห่งราชสํานัก ออกพระศรีเนาวรัตน์ได้นำเอาวัฒนธรรมของอิหร่านเข้ามาเผยแพร่ วิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบอิหร่านได้ถ่ายทอดไปสู่ชนชั้นสูงในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์ แม้แต่แบบแผนการทูต ตั้งแต่พิธีการ สถานที่รับรอง ไปจนถึงการแต่งกายก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมอิหร่าน ผ่านทางขุนนางผู้นี้ อย่างไรก็ดี สมเด็จพระนารายณ์มิได้ทรงรับนับถือศาสนาอิสลาม แต่การที่พระองค์ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภ์ศาสนาอิสลาม นิกายชีอะห์ โดยพระราชทานที่ดิน และทรัพย์สินในการประกอบพิธีกรรม เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้มุสลิมกลุ่มนี้

แผนการถ่วงดุลมหาอำนาจ

ท่านอกามะหะหมัดเข้ามารับตำแหน่งเสนาบดีกรมท่า ดูแลทั้งทางด้านการค้าและการต่างประเทศ ทำให้ท่านต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญหลายครั้ง โดยเฉพาะความขัดแย้งที่มีกับฮอลันดาซึ่งดำเนินสืบเนื่องมาตั้งแต่รัชกาลก่อน ฮอลันดาไม่พอใจการที่ท่านควบคุมการค้าอย่างเข้มงวด ทั้งยังผูกขาดการค้าไม้หอมซึ่งเป็นสินค้าที่ฮอลันดาต้องการเป็นเจ้าตลาดมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
ฮอลันดาเป็นชาติตะวันตกที่คุกคามรัฐต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาโดยตลอด รัฐมุสลิมหลายแห่งได้ถูกกองเรือปืนของฮอลันดาโจมตีและยึดครอง พ่อค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ กลายเป็นผู้ผูกขาดการค้าในมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีน กองเรือค้าขายของฮอลันดามีอาวุธปืนที่ทันสมัยและยังมีกองเรือขนาดใหญ่ที่ครอบครองน่านน้ำทางตะวันตกและตะวันออก สยามจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะต่อกรกับแสนยานุภาพทางทะเลของฮอลันดาได้ ท่านอกามะหะหมัดจึงต้องดำเนินนโยบายถ่วงดุลอำนาจของฮอลันดา
ในระยะแรกท่านคงมองไปที่อิหร่าน บ้านเกิดเมืองนอนซึ่งเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่และเจริญมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย มีการส่งคณะทูตสยามเดินทางไปยังราชสำนักของชาห์สุไลมาน (Shah Sulaiman) ของอิหร่านในเวลานั้น ความพยายามของราชสำนักที่จะขอความช่วยเหลือจากอิหร่านเป็นไปอย่างเชื่องช้า แม้จะส่งคณะทูตออกไปหลายคณะแต่การตอบรับคงเป็นเพียงให้ความสะดวกในด้านการค้าเท่านั้น
ราชสำนักอิหร่านมิได้กระตือรือร้นในการสนับสนุนหรือคุ้มครองกองเรือสยามในทะเล เพราะขณะนั้นอิหร่านกำลังประสบปัญหาจากการขยายอำนาจของจักรวรรดิออตโตมานาเตอร์กทางด้านตะวันตก ขณะเดียวกันก็ต้องปราบปรามชนกลุ่มน้อยที่กระด้างกระเดื่องในด้านตะวันออก นอกจากนี้ อิหร่านยังมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีกับฝรั่งเศส ฮอลันดา และอังกฤษ อิหร่านจึงไม่พร้อมที่จะเข้าไปช่วยอาณาจักรที่อยู่ห่างไกลออก
ท่านอกามะหะหมัดจึงต้องหันไปมองประเทศอื่นซึ่งจะเข้ามาช่วยถ่วงดุลอำนาจของฮอลันดา นั่นก็คือ อังกฤษ ที่ท่านมีสัมพันธ์อันดีกับพ่อค้าและบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ โดยให้สนับสนุนให้อังกฤษเข้ามาตั้งสถานีการค้าในกรุงศรีอยุธยา หลังจากที่อังกฤษเคยขาดทุนและต้องเลิกกิจการไประยะหนึ่ง ท่านทูลขอให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงลดหย่อนภาษีดีบุกให้กับพ่อค้าอังกฤษ และขอพระราชทานทุนทรัพย์เพื่อช่วยเหลือกิจการค้าของพ่อค้าอังกฤษในกรุงศรีอยุธยา
อังกฤษตอบสนองความปรารถนาของท่านเป็นอย่างดี นอกจากจะช่วยเหลืออนุญาตให้เรืออังกฤษขนสินค้าของสยามแล้ว ยังรับรองและคุ้มกันคณะทูตสยามที่เดินทางไปยังราชสำนักอิหร่าน นอกจากนี้ อังกฤษได้ให้สัจยี ชะลิม (Haii Salim) ราชทูตสยามที่ไปเจริญพระราชไมตรีกับราชสำนักอิหร่านยืมเงินเพื่อใช้จ่ายในระหว่างการเดินทาง ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างอังกฤษกับออกพระศรีเนาวรัตน์ทำให้พ่อค้าอังกฤษได้รับความสะดวก และยังเปิดโอกาสให้พนักงานของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ เดินเข้ามารับราชการในกรมท่า ซึ่งรวมทั้งนายคอนสแดนซ์ ฟอลคอนด้วย

สูงสุดคืนสู่สามัญ

อันที่จริงฟอลคอนอาจไม่มีบทบาทโดดเด่นในประวัติศาสตร์ หากไม่เกิดปัญหากับประชาคมมุสลิมในกรุงศรีอยุธยา จนกลายเป็นสาเหตุให้สมเด็จพระนารายณ์ต้องทรงแสวงหาพันธมิตรกลุ่มใหม่ มาแทนที่ประชาคมอิหร่านของท่านอกามะหะหมัด
สาเหตุมาจากความมั่งคั่งและอำนาจที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของท่านออกญาศรีเนาวรัตน์ที่ก่อให้เกิดความอิจฉา เริ่มจากกองทหารรักษาพระองค์ชาวอิหร่าน กล่าวหาท่านออกญาว่าโกงเบี้ยหวัดที่พระราชทาน ขณะที่ประชาคมอิหร่านเองก็เกิดสามัคคีเภทอันนำไปสู่การแก่งแย่งอำนาจและผลประโยชน์จนถึงกับมีการฆ่าฟันกัน นอกจากนี้ มุสลิมกลุ่มต่างๆ ที่อพยพเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาก็เริ่มก่อกวน จนกลายเป็นพวกนอกกฎหมายโดยที่ออกญาศรีเนาวรัตน์ไม่สามารถควบคุมประชาคมอิหร่านและมุสลิมกลุ่มต่างๆ ได้ นอกจากนี้ ท่านยังถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกงพระราชทรัพย์ และเบียดบังผลประโยชน์จากการค้า…
วิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นผลให้ท่านถูกถอดออกจากตำแหน่งหน้าที่ทางราชการทั้งหมด แม้จะไม่มีหลักฐานว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงลงพระราชอาญาท่านหรือไม่ แต่ด้วยสุขภาพที่เสื่อมโทรมและความชราก็ทำให้ท่านอัครมหาเสนาบดีผู้ซึ่งดูแลราชสำนักมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี ถึงแก่อนิจกรรมในที่สุด ประชาคมอิหร่านก็แตกสามัคคี สมเด็จพระนารายณ์ต้องทรงหาขุนนางคนใหม่เพื่อมารับหน้าที่แทนท่านออกญา จึงเป็นโอกาสให้ฟอลคอนขุนนางระดับล่างในกรมท่าได้เข้ามารับใช้ใกล้ชิด
ที่มา
www.silpa-mag.com
บทความก่อนหน้านี้ชีอะฮ์และการขึ้นครองราชของสมเด็จพระนารายณ์
บทความถัดไปพระมหากษัตรย์ไทยกับการใว้อาลัยให้เกียรติแด่อิมามฮุเซน(อ)ของชีอะฮ์

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่