“ไม่ว่าพวกเจ้าจะอยู่ ณ ที่แห่งหนตำบลใดก็ตาม ความตายก็จะมาถึงพวกเจ้า แม้ว่าพวกเจ้าจะอยู่ในป้อมปราการอันสูงตระหง่านมั่นคงแข็งแรงขนาดไหนก็ตาม”
(อัลกุรอ่าน 4:78)
ความตายเป็นสัจธรรมของชีวิตมนุษย์ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญโดยเท่าเทียมกันโดยไม่เกี่ยงเชื้อชาติ ภาษา สีผิว ศาสนา หรือสถานะทางสังคม ตามความเชื่อของชาวมุสลิม มิติความตายเป็นเรื่องที่กำหนดโดยพระเจ้า ชีวิตของมนุษย์ทุกคนเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์
เรามักได้ยินคำกล่าวอยู่เสมอๆ เมื่อทราบข่าวคนตายว่า “อินนาลิลลาฮิวะอินนาอิลัยฮิรอญิอูน” (แท้จริงแล้วพวกเรานั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ และพวกเรานั้นจะต้องกลับไปหาพระองค์)
ย้ำเตือนอยู่ตลอดเวลาถึงความไม่จีรัง ไม่ยึดติด ความตายคือการเปลี่ยนผ่าน เป็นประตูก้าวข้ามชีวิตบนโลกใบนี้ไปสู่ชีวิตอันเป็นนิรันดร์ ซึ่งดวงวิญญาณของมนุษย์จะรอคอยอยู่ในมิติหลังความตาย ส่วนร่างกายที่หมดอายุไขจะถูกฝังไว้ใน ‘กุโบร์’ หรือสุสาน เพื่อรอวันฟื้นคืนชีพและการพิพากษาการกระทำที่ชีวิตหนึ่งได้ทำกรรมดีไว้เมื่อครั้งยังมีลมหายใจ
‘กุโบร์’ ถูกเรียกในชื่อต่างๆ นานา อาทิ ป่าช้าแขก สุสานแขก กุโบร์เป็นส่วนประกอบสำคัญของชุมชนมุสลิม มักตั้งอยู่ติดกับมัสยิด เรียกว่าเป็นของคู่กันเหมือนวัดต้องมีเมรุเผาศพ บางชุมชนอาจมีกรณีที่มีอาคารมัสยิดแต่ไม่มีกุโบร์ เช่นกรณีของมัสยิดจักรพงษ์ บางลำพู ในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ เวลามีคนเสียชีวิตก็จะฝังที่กุโบร์มัสยิดมหานาค ย่านโบ๊เบ๊ หรือ ชุมชนมัสยิดที่แยกตัวใหม่ออกจากชุมชนเดิม แต่ไม่ได้จัดสรรพื้นที่ทำฝังศพ จึงต้องใช้กุโบร์ของชุมชนใกล้เคียง เป็นต้น
กุโบร์ประจำชุมชนเหล่านี้กระจายตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้เป็นที่รับรู้สำหรับคนนอกเท่าไรนัก ผู้เขียนมักได้รับคำตอบจากเพื่อนต่างศาสนิกเมื่อพูดถึงกุโบร์อยู่เสมอๆ ว่า
“ไม่กล้าเข้า”
“เข้าไปแล้วทำตัวไม่ถูก”
“เขาว่าป่าช้าแขกเจ้าที่แรงนะ” (อันนั้นความเชื่อส่วนตัว ก็ว่ากันไป)
แน่ล่ะ กุโบร์คงไม่ใช่สถานที่ที่จู่ๆ ใครจะเดินเข้าไป อาจเพราะคนไทยพุทธมองป่าช้าเป็นสถานที่ไม่เป็นมงคล แต่สำหรับชาวมุสลิม กุโบร์คือสวนแห่งความเงียบสงบที่คุ้นเคย ในบทความนี้ ผู้เขียนอยากชวนทำความรู้จักกุโบร์แห่งหนึ่ง คือ ‘กุโบร์มัสยิดต้นสน’ ในฐานะสุสานประวัติศาสตร์ เพื่อเพิ่มมุมมองให้หลายๆ คนรับรู้เรื่องราวของชาวมุสลิมแห่งเมืองบางกอกมากขึ้น
“เจียมลูกพ่อเดช มันถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารของพระเจ้าทรงธรรมที่กรุงศรีอยุธยา อุตส่าห์ส่งผ้าโสร่งตาหมากรุกมาให้พ่อของมันถึงบางกอกใหญ่จนได้”
จากถ้อยคำที่จารลงสมุดข่อยโบราณของชุมชน มีนัยปรากฏร่องรอยของชุมชนมุสลิมบริเวณคลองบางกอกใหญ่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อันเป็นที่ตั้งของ ‘กุฎีบางกอกใหญ่’ (ภายหลังกร่อนเหลือแค่ กุฎีใหญ่) หรือ ‘มัสยิดต้นสน’
ประวัติมัสยิดและชุมชนแห่งนี้สามารถย้อนไปถึงเมืองบางกอก ฝั่งธนบุรี เมืองท่าหน้าด่านในริมแม่น้ำเจ้าพระยา อดีตชุมชนการค้าสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ดึงดูดพ่อค้าและผู้คนหลากหลายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน รวมถึงกลุ่มชาวมุสลิมหลากหลายเชื้อสาย เมื่อคราวกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ.2310 กลุ่มชาวมุสลิมที่เรียกกันว่า ‘แขกแพ’ (คำเรียกชาวมุสลิมที่อาศัยเรือนแพประกอบอาชีพค้าขายในกรุงศรีอยุธยา) ได้ถอดแพอพยพหนีลงมาสมทบกันอยู่ที่ชุมชนปากคลองบางกอกใหญ่
เนื่องจากเป็นชุมชนมุสลิมและมีศาสนสถานดั้งเดิมตั้งอยู่แล้ว ชุมชนแห่งนี้จึงขยายตัวและมีความสำคัญในฐานะเป็นนิวาสถานของบรรดาขุนนางแขกและพ่อค้ามุสลิมจำนวนมาก หากพิจารณาตำแหน่งของมัสยิดและสุสานที่ไม่ห่างจากพระราชวังเดิม ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อันเป็นแกนของเมืองบางกอก-ธนบุรี ทำให้เราอนุมานความสำคัญด้านภูมิประวัติศาสตร์และสถานะทางสังคมของผู้คนในชุมชนแห่งนี้ได้อย่างดี เหตุนี้ทำให้นับได้ว่ามัสยิดต้นสนเป็นหนึ่งในชุมชนมุสลิมเก่าแก่ที่สุดและสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ
หากใครแวะเวียนมาที่นี่ จะพบว่าตัวอาคารมัสยิดต้นสนหลังปัจจุบันบูรณะรูปแบบตะวันออกกลาง ซึ่งแต่เดิมอาคารมัสยิดหลังเก่านั้นสร้างด้วยสถาปัตยกรรมไทยเหมือนกับอุโบสถในวัดพุทธไม่มีผิด ปัจจุบันเหลือเพียง ‘มัสยิดบางหลวง’ หรือ ‘กุฎีขาว’ ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามคลองเพียงหลังเดียวที่ยังคงรูปแบบดั้งเดิมไว้ได้
ชุมชนยังคงเก็บรักษาธรรมาสน์และซุ้มเมี๊ยะหรอบทรงไทยประเพณีจากมัสยิดหลังเก่าไว้ในอาคารเรียนฯ เป็นหลักฐานที่สำคัญของชุมชน นอกจากนี้ยังมีอาคารสมาคมสนธิอิสลามทรงปั้นหยา สร้างใน พ.ศ.2458 ยังคงเป็นอนุสรณ์ของกาลเวลาตั้งตระหง่านเคร่งขรึมอยู่คู่กัน
ประตูสู่ชีวิตนิรันดร์ : สุสานประวัติศาสตร์มัสยิดต้นสน
เมื่อก้าวเข้าสู่เขตของกุโบร์มัสยิดต้นสน ด้านหลังที่ปกคลุมด้วยแมกไม้เขียวขจีเปรียบเสมือนปอดเล็กๆ ของเมือง ภายในพบกับป้ายปักหลุมศพที่คนในชุมชนเรียก ‘ไม้นีซ่าน’ (มาจากคำว่า Nisan ภาษามลายู) จำนวนมากเรียงรายเป็นทิวแถว ทั้งเป็นระเบียบบ้าง ทั้งซ้อนเกยกันบ้างแน่นขนัด เมื่อพิจารณารูปทรง ความเก่าแก่ ป้ายชื่อสกุลปีชาตะ-มรณะ บนไม้นีซ่านเหล่านี้ บรรยากาศชวนเราเข้าไปอยู่ในท่ามกลางบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งมีบทบาทในวงการราชการ การทหาร ศาสนา ค้าขาย หรือสร้างคุณูปการอื่นๆ หรือบรรพบุรุษสายตระกูลต่างๆ ล้วนฝังร่างอยู่ที่นี่
กุโบร์นั้นแบ่งออกเป็น 2 โซนหลักๆ บริเวณพื้นที่ด้านที่ติดกับตัวมัสยิดเป็นสุสานของมุสลิมนิกายซุนนี จุดที่เป็นที่สะดุดตา คือกลุ่มไม้นิซ่านหินทรายโบราณขนาดใหญ่รูปทรงคล้ายใบเสมาซึ่งถูกล้อมรั้วไว้
บริเวณตรงกลางกุโบร์คือสถานที่ฝังร่างของเหล่าขุนนางแขก เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ (หมุด) เชื้อสายสุลต่านสุลัยมานแห่งสงขลา ผู้มีบทบาทสำคัญเป็นทหารคู่พระทัยพระเจ้าตากสินมหาราชปราบชุมนุมต่างๆ และนำไปสู่การสถาปนากรุงธนบุรี นอกจากนี้ ยังมีหลุมศพของ พระยาราชบังสัน (ฉิม) แม่ทัพเรือในสมัยรัชกาลที่ 2 ขุนรามฤทธิไกรบุตรพระลักษมณา (หม่าน) และตวนน้อยบุตรพระลักษมณา
ในบริเวณใกล้เคียงนี้ยังมีบุคคลสำคัญอีกหลายท่าน เช่น หลวงเสน่ห์สรชิต (อาหมัด) เจ้ากรมพระแสงปืนต้นขวา หลวงโกชาอิศหาก (นักโกด่าอาลี) ผู้ทำหน้าที่ล่ามหลวงรับรองเซอร์จอห์น ครอเฟิร์ด ผู้แทนของอังกฤษครั้งเข้ามาเจรจาทำสนธิสัญญาพระราชไมตรีในสมัยรัชกาลที่ 3 พันเอกพระยากัลยาณภักดี (ยะกูบ กัลยาณสุต) ผู้นำอิหม่ามมัสยิดต่างๆ ในจังหวัดพระนครและหัวเมืองสำคัญเข้าถวายพระพรไชยมงคลรัชกาลที่ 6 ใน พ.ศ.2458 – 2459 พร้อมได้รับพระราชทานเสื้อครุยประจำตำแหน่งอิหม่าม
รวมไปถึงปูชนียบุคคลอื่นๆ และบรรพบุรุษของคนในชุมชนมัสยิดต้นสนอีกมากมาย อาทิ มานะจิตต์, มุขตารี, โยธาสมุทร, สิทธิวณิช, ชลายนเดชะ, ภู่มาลี ฯลฯ (และอีกมากมายที่ไม่ยกมากล่าวได้ทั้งหมด ผู้เขียนขออภัยทายาทมา ณ ที่นี้) และไปเกี่ยวดองกับชุมชนมุสลิมอื่นๆ ในฝั่งธนบุรีในโซนบางกอกน้อย และบางอ้อ-บางพลัด ด้วยเช่นกัน
มีเรื่องเล่าว่า ครั้งเมื่อปรับปรุงกุโบร์ มีการค้นพบแท่นก่ออิฐถือปูนคล้ายฐานชุกชี มีรูปทรงปูนปั้นศิลปะอยุธยาตอนกลางหรือตอนปลาย ซึ่งก็สันนิษฐานกันว่าเป็นแท่นเหนือหลุมศพ (มะก่อม) ของขุนนางมุสลิมสำคัญในสมัยอยุธยา บ้างคาดเดาว่าน่าจะเป็นของพระยาราชวังสันเสนีย์ (มะหมู๊ด) จางวางกรมอาสาจาม อันว่าน่าจะเป็นหนึ่งในหลุมศพที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังพอมีหลักฐาน
กุโบร์ที่ผู้คนต่างสำนักคิดฝังอยู่ร่วมกัน
ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของกุโบร์มัสยิดต้นสนซึ่งหาที่เปรียบเทียบได้ยาก คือการเป็นกุโบร์ที่รวมความแตกต่างทางด้านสำนักคิดของชาวมุสลิมนิกายซุนนี-ชีอะฮ์ (เจ้าเซ็น) อยู่ร่วมกัน เป็นเครื่องยืนยันความถ้อยทีถ้อยอาศัยของผู้คนในอดีตถึงปัจจุบันมายาวนานร่วม 300 ปี
ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นที่ตั้งของกุโบร์ของมุสลิมชีอะฮ์ ด้วยเหตุที่ในช่วงแรกเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเพราะเพิ่งจะอพยพจากอยุธยากันมา ชาวมุสลิมทั้งสองนิกายจึงใช้กุฎีใหญ่ (มัสยิดต้นสน) ในการประกอบพิธีทางศาสนาด้วยกัน แต่ด้วยความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาแตกต่าง ส่งผลให้แขกเจ้าเซ็นหรือมุสลิมชีอะฮ์ขอพระราชทานที่ดินเป็นของตนเอง เพื่อแยกตัวออกไปสร้างกุฎีหลวง (แต่เดิมตั้งอยู่ปากคลองมอญ) และกุฎีล่างหรือกุฎีเจริญพาศน์ในปัจจุบัน ดังนั้นมัสยิดของชาวมุสลิมชีอะฮ์ในย่านนฝั่งธนบุรีจึงมีความสัมพันธ์กับชุมชนมัสยิดต้นสน โดยมีกุโบร์ของบรรพบุรุษเป็นตัวเชื่อมนั่นเอง
ด้านแขกเจ้าเซ็นมีบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหลุมศพของพระยาจุฬาราชมนตรีสมัยรัตนโกสินทร์ จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จำนวน 9 ท่าน ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาบวรราชนายก หรือเฉกอะหมัด ขุนนางเปอร์เซียในสมัยอยุธยา อีกทั้งยังรวมถึงขุนนางสายเจ้าเซ็นอื่นๆ อีก
ในบรรดาไม้นิซ่านของกลุ่มนี้ ชิ้นที่โดดเด่นคือแผ่นไม้สักทองแกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม ปักอยู่บนหลุมศพของ พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ผู้เป็นบิดาของ เจ้าจอมละม้าย (อหะหมัดจุฬา – ซึ่งก็ฝังอยู่ที่กุโบร์นี้เช่นกัน) ในรัชกาลที่ 5
ท่านเป็นบุคคลหนึ่งที่ถวายงานใกล้ชิดในกรมท่าขวาและกระทรวงยุติธรรม จนเมื่อท่านถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ.2453 ได้รับพระราชทานไม้นิซ่านชิ้นนี้ไว้ปักเหนือหลุมศพนั่นเอง โดยน่าจะเป็นคนเดียวในที่ได้รับพระราชทานไม้ปัก ส่วนมากจะเป็นดินพระราชทาน
ยังมีบุคคลสำคัญอีกหลายๆ ท่านที่เป็นที่รู้จักในสังคมถูกฝังร่างไว้ที่นี่อีกมากจนไม่สามารถกล่าวได้หมด บุคคลผู้เขียนรู้จักผ่านเอกสารและงานเขียน เช่น ท่านเพิ่ม อหะหมัดจุฬา ผู้เก็บบันทึกประวัติศาสตร์สายตระกูลเฉกอะหมัด อาจารย์ไรน่าน อรุณรังสี นักเขียนและแปลปรัชญาวรรณกรรม ผู้ฝากผลงานแปลบทกวีก้องโลก มัษนาวี ของรูมี (Rumi) เป็นต้น
ทุกวันนี้สุสานมัสยิดต้นสนยังถูกใช้งานเป็นที่ฝังของชาวมุสลิมทั้งสองสาย ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมสังเกตการณ์งานศพที่กุโบร์แห่งนี้ และได้เห็นความสัมพันธ์เครือญาติ การไปมาหาสู่ระหว่างชุมชน ธรรมเนียมการปฏิบัติทางศาสนาและจารีตที่ยังคงเข้มแข็ง รวมถึงการช่วยเหลือทั้งแรงกาย แรงใจ หรือทรัพย์สินเพียงเล็กน้อยเพื่อปลอบประโลมความเศร้าคือแบบอย่างการปฏิบัติในแนวทางอิสลาม
“ถึงมัสฮับ (สำนักคิด) เขาจะต่างกับเรา แต่การให้เกียรติที่การเป็นมนุษย์เหมือนกันนั้นสำคัญกว่า ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาใด มุสลิมด้วยกันยิ่งแล้วใหญ่…” ผู้มาร่วมในงานฝังศพท่านหนึ่งกล่าวกับผู้เขียน
กุโบร์ของชาวมุสลิมในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในและฝั่งธนบุรียังคงตั้งมั่นอยู่ท่ามกลางความเจริญ และการกลายเป็นเมืองอย่างรวดเร็วของกรุงเทพมหานคร พื้นที่ของกุโบร์หลายแห่ง โดยรอบที่แต่เดิมอาจเป็นสวนหรือท้องนาถูกแทนที่ด้วยตึกที่อยู่อาศัยและถนน เมื่อสถานที่ไม่อำนวยให้ขยับขยายได้ ประกอบกับจำนวนประชากรในชุมชนที่มากขึ้น ทำให้ประสบปัญหาความแออัด ต้องถมดินเพิ่มขึ้นและรื้อถอดไม้ปักหลุมออกเพื่อเปิดทางให้กับการขุดหลุมใหม่ (ชาวมุสลิมสามารถฝังซ้อนทับกันได้ในกรณีไม่มีที่)
ในกรณีของกุโบร์มัสยิดต้นสนก็ไม่ยกเว้น เนื่องด้วยอายุอานามของชุมชนมากกว่า 400 ปี สร้างอุปสรรคที่ต้องเผชิญเช่นเดียวกัน แต่ถึงกระนั้น เรายังเห็นความพยายามของชุมชนที่จะปรับปรุงดูแลกุโบร์แห่งนี้ให้อยู่ในสภาพดีตามความเหมาะสมและทุนทรัพย์ที่จะทำได้
ผู้เขียนมองเห็นแง่มุมที่น่ายกย่องในฐานะผู้สนใจประวัติศาสตร์โบราณคดีว่า กุโบร์มัสยิดต้นสนยังอนุรักษ์ไม้ปักหลุมศพจำนวนมากเหล่านี้ไว้ให้เกิดคุณค่า และมีความหมายว่าเป็น ‘หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์กล้างแจ้ง’ สำหรับคนไทยเกี่ยวกับคนมุสลิมที่มีอดีตอันยาวนานบนผืนดินนี้ โดยตัวสุสานเองมักถูกมองข้ามในฐานะ ‘หลักฐานทางประวัติศาสตร์’ และต้องหลีกทางให้กับการตีความแบบอื่น
หากเรามองในมุมมองของแหล่งเรียนรู้แล้ว กุโบร์จึงไม่ใช่สถานที่ที่น่ากลัวแต่อย่างใด แต่กลายเป็นสถานที่ควรแก่การเยี่ยมคารวะ ได้ทำความรู้จักรากเหง้าสายตระกูล สดุดีวีรกรรม หรือเป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้สนใจใคร่รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ เชื่อมโยงประวัติบุคคลสำคัญ หรือแม้แต่สถานที่ร่มรื่นเงียบสงบเจริญมรณานุสติท่ามกลางเมืองหลวงที่วุ่นวาย
สถานที่ตั้ง : มัสยิดต้นสน ซอยวัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ (เชิงสะพานอนุทินสวัสดิ์ฝั่งแยกวังเดิม)
ข้อปฏิบัติในการเยี่ยมสุสาน : โปรดแต่งกายสุภาพ ให้เกียรติสถานที่และไม่ส่งเสียงดัง เดินบนทางเดินที่กำหนดไม่เดินย่ำหรือข้ามหลุมฝังศพ กรณีสุภาพสตรีมีประจำเดือน พิจารณางดเว้นการเดินเข้าไปในสุสาน
ข้อมูลอ้างอิง
คณะกรรมการจัดงานเสวนามุสลิมมัสยิดต้นสนกับบรรพชนสามยุคสมัย. มุสลิมมัสยิดต้นสนกับบรรพชนสามยุค สมัย ประวัติชาวมัสยิดต้นสน บทวิเคราะห์ความเป็นมา 400 ปีเคียงคู่เอกราชชาติไทย. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการฯ, 2544.
ฝ่ายประชาสัมพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดต้นสน. วารสารทีนี่ต้นสน, ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2546.
ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์. ความสัมพันธ์ของมุสลิมทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545.
เสาวนีย์ จิตต์หมวด, กลุ่มชาติพันธุ์ : ชาวไทยมุสลิม กรุงเทพฯ : กองทุนสง่ารุจิระอัมพร, 2531.อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี. มัสยิดในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557.